(ภาพจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
วันพืชมงคล คือวันงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้นในวันนั้น
โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
สำหรับประวัติความเป็นมาโดยย่อ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น
ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"
สำหรับการเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ จะมีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ซึ่งแต่ละปีนั้น ประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรก พระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป เป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ 6 คืบ 5 คืบ และ 4 คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดนั้นจะมีคำทำนาย ไปตามนั้น คือ
ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่
และอีกหนึ่งพิธีเสี่ยงทาย ที่ต้องลุ้นกันทุกปี คือการเสี่ยงของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้
ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
และถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
|