วันวชิราวุธ หมายถึง วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงริเริ่มกิจกรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมนับอเนกอนันต์ไว้ในหลายสาขา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
เมื่อทรงพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี" ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ ๒ รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
พระราชลัญจกร (ลัน-จะ-กอน หมายถึง ตรา) ประจำพระองค์ เป็นรูปวชิราวุธ ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรบริวาร ๒ ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า วชิราวุธ หมายถึง ศัสตราวุธของพระอินทร์
พระราชกรณียกิจสำคัญ
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีคุณูปการต่อประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งด้านการคมนาคม การแพทย์และสาธารณสุข ด้านการปกครอง กิจการเสือป่าและลูกเสือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์เป็นต้น
ด้วยคุณูปการดังกล่าว ทางราชการจึงได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ไว้ในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ที่สำคัญคือพระบรมราชานุสาวรีย์บริเวณหน้าสวนลุมพินี ซึ่งรัฐบาลและประชาชนพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้น พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ และทางราชการได้กำหนดให้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวัน วชิราวุธ และจัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปเป็นประจำทุกปี ในวันนี้ขอกล่าวถึงพระราชกรณียกิจ เพียง 1 เรื่องที่สำคัญต่อการศึกษาอย่างยิ่ง คือ ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ มีความมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหาร ซึ่งจะทำให้เป็นราษฎรที่มีคุณภาพ มีวินัย เคารพกฎหมายบ้านเมือง และเพื่อปลุกใจให้มีความรักในพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา และเพื่อส่งเสริมความสามัคคี เสือป่ามีหน้าที่ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความสงบทั่วไปในบ้านเมือง เช่น ช่วยจับกุมคนร้ายขโมย ช่วยเหลือเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ล้อมวงที่ประทับเมื่อเสด็จไปในที่เกิดเหตุ ซึ่งมีคนพลุกพล่านและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในด้านต่าง ๆ
เสือป่ามี ๒ พวก คือ กองเสือป่าหลวง และกองเสือป่ารักษาดินแดน กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของเสือป่าคือการซ้อมรบหรือประลองยุทธ์ ซึ่งมักกระทำในต่างจังหวัด เช่น นครปฐม ราชบุรี ในการซ้อมรบใหญ่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นจอมทัพด้วยพระองค์เอง พระองค์ยังได้พระราชทานที่ดินเป็นที่ชุมนุมเสือป่าและลูกเสือ ที่เรียกว่าสนามเสือป่าในปัจจุบัน และสโมสรเสือป่าซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นร้านสหกรณ์พัฒนาในขณะนี้
ถึงแม้ว่ากองเสือป่าต้องเลิกล้มไป หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต แต่พระราชดำริเกี่ยวกับการที่ให้พลเรือนมีส่วนในการรักษาดินแดนมิให้สูญหายไป เนื่องจากได้มีการจัดตั้งกรมการรักษาดินแดนขึ้นเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้ดำเนินการฝึกหัดนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาและนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ให้มีความรู้ในวิชาทหาร มีความรู้ และความสามารถในการรบเพื่อช่วยเหลือกำลังของกองทัพได้
นอกจากกองเสือป่าแล้ว พระองค์ยังทรงริเริ่มจัดตั้งกองลูกเสือ กองลูกเสือกองแรกจัดตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็ก คือ โรงเรียนวชิราวุธในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เพื่อฝึกเยาวชนให้มีคุณสมบัติที่ดี มีความสามัคคี ความมานะอดทนและเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นผู้ช่วยรบได้ในยามคับขัน ต่อมาได้ขยายกิจการไปทั่วประเทศ ได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" และยังได้ทรงแสดงคุณค่าของการเป็นลูกเสือไว้ในพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง "หัวใจนักรบ" และ "ความดีมีไชย"
กิจการลูกเสือได้เจริญรุ่งเรืองเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองมาจนทุกวันนี้ และได้มีวิวัฒนาการเป็นกองอาสารักษาดินแดน ลูกเสือชาวบ้านและเนตรนารี เป็นต้น
ที่มา www.ammart.ac.th
|